สาเหตุและวิธีรับมือ เมื่อหญิงตั้งครรภ์มีอาการท้องผูก

ท้องผูกขณะตั้งครรภ์เป็นปัญหาทางเดินอาหารที่พบได้บ่อยในหญิงตั้งครรภ์ ทำให้อึดอัดแน่นท้อง ไม่สบายตัว ในบางรายเป็นมากจนเกิดความรู้สึกทรมาน เครียด และทำให้คุณภาพชีวิตลดลงได้อีกด้วย บางครั้งอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ เช่น ริดสีดวงทวาร ดังนั้น เราจึงต้องรู้วิธีป้องกันและรักษาภาวะท้องผูกขณะตั้งครรภ์อย่างถูกวิธี

ท้องผูกขณะตั้งครรภ์เกิดขึ้นได้อย่างไร

ท้องผูกขณะตั้งครรภ์

สาเหตุที่ทำให้คุณแม่ท้องผูกขณะตั้งครรภ์ คือ

1. ในช่วงที่ตั้งครรภ์โดยเฉพาะ 3 เดือนแรก จะมีการหลั่งฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่มากขึ้น ทำให้กล้ามเนื้อลำไส้คลายตัว ลำไส้จึงเคลื่อนไหวช้า จึงขับอุจจาระออกมาได้ลดลง

2. มดลูกขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ไปเบียดลำไส้จนโพรงลำไส้แคบลงและขับอุจจาระออกได้ยาก

3. วิตามินหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางชนิดที่คุณแม่ใช้บำรุงก็อาจทำให้เกิดอาการท้องผูกได้ เช่น แคลเซียม

4. ภาวะเครียดก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ท้องผูกได้

ท้องผูกขณะตั้งครรภ์สำคัญอย่างไร อันตรายหรือไม่

วิธีแก้อาการท้องผูกตั้งครรภ์

อาการท้องผูกทั่วไปในขณะตั้งครรภ์มักไม่เกิดอันตรายร้ายแรงต่อคุณแม่หรือเด็กในครรภ์ อย่างไรก็ตาม การปล่อยไว้โดยไม่แก้ไขอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ เช่น ริดสีดวงทวารหรือลำไส้อุดตัน หรือบางครั้งอาการท้องผูกอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคทางระบบทางเดินอาหารอื่น ๆ ที่รุนแรงได้ จึงควรหมั่นสังเกตตนเองและไม่นิ่งนอนใจกับอาการที่เกิดขึ้น

จะจัดการภาวะท้องผูกขณะตั้งครรภ์อย่างไรดี

การรักษาท้องผูกขณะตั้งครรภ์

การรักษาภาวะท้องผูกขณะตั้งครรภ์จะเน้นถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทั้งการใช้ชีวิตและรับประทานอาหารให้เหมาะสม ดังนี้

1. รับประทานอาหารที่มีกากใยเพิ่มขึ้น อาหารที่มีกากใยสูง ได้แก่ ผัก ผลไม้ (มะละกอ กล้วย ส้ม แตงโม แอปเปิ้ล มะขาม) พืชตระกูลถั่ว รำข้าวโอ๊ต อาหารที่มีกากใยเยอะ ๆ จะช่วยอุ้มน้ำไว้ในโพรงลำไส้และกระตุ้นระบบขับถ่ายให้ทำงานได้ดีขึ้น

2. ดื่มน้ำมาก ๆ หรือในปริมาณที่เพียงพอ การดื่มน้ำอย่างเพียงพอจะช่วยทำให้กากใยทำงานได้ดีขึ้น ช่วยในระบบขับถ่ายได้ดี

3. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แม้จะอยู่ในช่วงตั้งครรภ์ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอก็จะช่วยให้ร่างกายและระบบขับถ่ายทำงานได้อย่างปกติ โดยเลือกวิธีออกกำลังกายที่เบา ๆ เหมาะสมกับคุณแม่แต่ละคน เช่น เดิน ว่ายน้ำ โยคะ และแนะนำให้ออกกำลังกายอย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ และครั้งละ 20-30 นาที

ส่วนยาระบาย ไม่แนะนำให้ใช้โดยไม่จำเป็นในคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ อาจพิจารณาใช้กรณีที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วก็ยังไม่ได้ผล และควรได้รับคำแนะนำการใช้ยาระบายอย่างถูกต้องจากแพทย์หรือเภสัชกร ยาระบายที่นิยมใช้ขณะตั้งครรภ์ เช่น แลคทูโลส (lactulose) เนื่องจากมีความปลอดภัยในหญิงตั้งครรภ์ และมีประสิทธิภาพที่ดี

THL2147600-4 EXP:(30-APR-2026)