ทำอย่างไร? เมื่อคนไข้โรคไตท้องผูก

ภาวะท้องผูก เป็นปัญหาที่พบบ่อยและส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง พบว่าคนไข้โรคไตมักมีภาวะท้องผูกมากถึงร้อยละ 37.3 โดยภาวะท้องผูกในผู้ป่วยโรคไตนั้น จะมีสาเหตุและปัจจัยแตกต่างกับคนทั่วไปหรือไม่ และมีวิธีจัดการอย่างไร ในบทความนี้เรามาเรียนรู้กัน1


ชนิด สาเหตุและความสำคัญของท้องผูกในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง

acare_Gastro_constipation_kidney_disease

ภาวะท้องผูกเรื้อรัง แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ ชนิดปฐมภูมิ ได้แก่ การกลั้นการขับถ่าย การทำงานของลำไส้ที่ผิดปกติ ลำไส้มีการเคลื่อนไหวลดลง และชนิดทุติยภูมิ มักเกิดจากความผิดปกติของระบบประสาท ความผิดปกติทางเมทาบอลิซึม และการใช้ยาบางชนิด เป็นต้น2

สาเหตุของภาวะท้องผูกเรื้อรังที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคไต ได้แก่ มีโรคประจำตัวอื่นร่วมด้วย เช่น เบาหวาน โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ ไทรอยด์ทำงานลดลง ยาที่รับประทานเป็นประจำ เช่น ยาลดความดันโลหิตบางกลุ่ม ธาตุเหล็กบำรุงเลือด แคลเซียม ยาแก้ปวดกลุ่มโอปิออยด์ และยาต้านเศร้าบางกลุ่ม และสาเหตุอื่นมักเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การดื่มน้ำน้อย การรับประทานใยอาหารหรือไฟเบอร์น้อย เช่น ผักและผลไม้ และการไม่ออกกำลังกาย เป็นต้น2 โดยจากข้อมูลการศึกษาทางวิชาการพบว่าการรักษาภาวะท้องผูกในคนไข้โรคไตนั้นมีความสำคัญ เนื่องจากพบว่าคนไข้โรคไตที่มีภาวะท้องผูกร่วมด้วยจะมีความเสี่ยงของการเป็นโรคไตระยะสุดท้าย มากกว่ากลุ่มที่ไม่มีภาวะท้องผูกสูงถึง 1.9 เท่า3


การจัดการภาวะท้องผูกในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง

ภาวะท้องผูกโดยทั่วไปอาจเริ่มต้นด้วยการปรับพฤติกรรม เช่น การดื่มน้ำให้เพียงพอ การรับประทานอาหารที่มีกากใยสูง ฝึกการขับถ่ายให้ถูกสุขลักษณะ และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ4,5แต่ในผู้ป่วยโรคไต การออกกำลังกายอาจไม่เหมาะกับผู้ป่วยสูงอายุที่มีโรคประจำตัวหลายชนิด อีกทั้งอาการท้องผูกอาจเกิดจากยาที่ผู้ป่วยโรคไตที่จำเป็นต้องใช้ประจำ ดังนั้นการปรับพฤติกรรมอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ จึงสามารถการใช้ยาระบายร่วมด้วย การใช้ยาระบายในผู้ป่วยโรคไตควรพิจารณาทั้งด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยจากการใช้ยา4

acare_Gastro_constipation_kidney_disease_fiber

ยาระบายที่พบได้บ่อย ได้แก่ 1. ยาระบายกลุ่มไฟเบอร์ ช่วยเพิ่มปริมาณอุจจาระเช่น ไฟเบอร์จากเมล็ดเทียนเกล็ดหอย (psyllium หรือ ispaghula husk) และเมทิลเซลลูโลส (methycellulose) การใช้ยากลุ่มนี้ต้องดื่มน้ำให้เพียงพอ ควรระมัดระวังในผู้ป่วยโรคไตที่ต้องจำกัดน้ำ 2. ยาระบายกลุ่มออสโมซีส เพิ่มปริมาณน้ำในโพรงลำไส้ เช่น แลคตูโลส (lactulose), โพลีเอทิลีนไกลคอล (polyethylene glycol) และมิลค์ออฟแมกนีเซีย (Milk of Magnesia) โดยการรับประทานยามิลค์ออฟแมกนีเซียควรระมัดระวังในคนไข้โรคไตเพราะอาจทำให้แม็กนีเซียมสูงในเลือด 3. ยาระบายกลุ่มกระตุ้นลำไส้ กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ เช่น มะขามแขก (senna) และบิซาโคดิล (bisacodyl) การกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้โดยตรงทำให้พบอาการข้างเคียง เช่น อาการปวดเกร็งในช่องท้องได้ 4. ยากลุ่มอื่น เช่น docusate sodium และ mineral oil เป็นต้น2

โดยทั่วไปยาระบายชนิดแรกที่แนะนำในผู้ป่วยที่มีอาการท้องผูกเรื้อรัง คือ ยาระบายกลุ่มออสโมซีส เช่น แลคตูโลส และโพลีเอทิลีนไกลคอล6  สำหรับผู้ป่วยโรคไตที่มีความจำเป็นในการใช้ยาระบาย แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ประจำตัวของท่านเพื่อรับยาระบายที่เหมาะสมและปลอดภัย


บทสรุป

อาการท้องผูกพบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคไต หากไม่ได้รับการจัดการที่เหมาะสมปล่อยให้มีอาการท้องผูกเรื้อรังอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไตวายระยะสุดท้าย การรักษาอาการท้องผูกเรื้อรังควรเริ่มจากการปรับพฤติกรรม หากปรับพฤติกรรมแล้วอาการท้องผูกไม่ดีขึ้น ควรเลือกใช้ยาระบายที่เหมาะสมกับผู้ป่วยโรคไต โดยพิจารณาทั้งประสิทธิภาพและความปลอดภัยจากการใช้ยาแต่ละชนิด



เอกสารอ้างอิง

1. Anucha Thaivong.et.al. Relationship between Unpleasant Symptom Clusters and Quality of Life among Patients With Chronic Kidney Disease, Journal of Nursing and Health Care, volume 35 no.3 : July – September 2017
2. Sumida K, Yamagata K, Kovesdy CP. Constipation in CKD. Kidney Int Rep. 2019 Nov 13;5(2):121-134. doi: 10.1016/j.ekir.2019.11.002. PMID: 32043026; PMCID: PMC7000799.
3. Lu CY, Chen YC, Lu YW, Muo CH, Chang RE. Association of Constipation with risk of end-stage renal disease in patients with chronic kidney disease. BMC nephrology. 2019 Dec;20(1):1-8.
4. Nata N, Suebsiripong S, Satirapoj B, Supasyndh O, Chaiprasert A. Efficacy of Lactulose versus Senna Plus Ispaghula Husk Among Patients with Pre-Dialysis Chronic Kidney Disease and Constipation: A Randomized Controlled Trial. Int J Nephrol Renovasc Dis. 2021 Aug 7;14:313-319. doi: 10.2147/IJNRD.S328208. PMID: 34393499; PMCID: PMC8357401.
5. Camilleri M, Ford AC, Mawe GM, Dinning PG, Rao SS, Chey WD, Simrén M, Lembo A, Young-Fadok TM, Chang L. Chronic constipation. Nat Rev Dis Primers. 2017 Dec 14;3:17095. doi: 10.1038/nrdp.2017.95. PMID: 29239347.
6. American College of Gastroenterology Chronic Constipation Task Force. An Evidence-Based Approach to the Management of Chronic Constipation in North America. American Journal of Gastroenterology. 2005, 100; No. S1, s1-21.

THL2235857, EXP: 26 June 2024