ติดยาระบาย…ทำอย่างไรดี?

เมื่อพูดถึงยาระบาย เราจะเห็นว่าเป็นยาที่หาได้ง่ายใช้กันบ่อยเวลาท้องผูก แต่รู้หรือไม่ว่าจริง ๆ แล้วยาระบายในท้องตลาดมีอยู่หลากหลายชนิดมาก และมีวิธีใช้ที่แตกต่างกัน ปัจจุบันยังพบปัญหาจากการใช้ยาระบายอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ใช้ยาระบายต่อเนื่องทุกวัน จนคนทั่วไปพูดกันติดปากว่า “ติดยาระบาย”

ยาระบายมีกี่ชนิด เป็นอย่างไร ทำไมถึงติดยาระบายได้

ยาระบายที่มีใช้กันในปัจจุบันมีหลายกลุ่ม และยังมีหลายรูปแบบ เช่น ยารับประทาน ยาชง ยาเหน็บ ยาสวนทวาร ตัวอย่างยาระบายที่ใช้กันทั่วไป ได้แก่


ยาระบายที่ออกฤทธิ์คล้ายไฟเบอร์ คอยอุ้มน้ำไว้ในลำไส้ เพิ่มปริมาณอุจจาระและทำให้อุจจาระนิ่มขึ้น ยาระบายพวกนี้มักเป็นผงชงกับน้ำแล้วรับประทาน ถือเป็นยาระบายแบบอ่อน

ยาระบายที่ดูดน้ำเข้ามาในลำไส้เพื่อทำให้อุจจาระนุ่มและลำไส้เคลื่อนตัวได้ดีขึ้น เช่น มิลค์ออฟแมกนีเซีย แลคทูโลส

ยาระบายที่ออกฤทธิ์กระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้โดยตรง เช่น ยาระบายมะขามแขก หากใช้ยากลุ่มนี้เป็นเวลานานจะเกิดปัญหาง่ายกว่ายากลุ่มอื่น เพราะอาจทำให้ “ลำไส้เฉื่อย” ไม่ยอมทำงานด้วยตนเอง เริ่มดื้อยาระบาย จึงต้องเพิ่มขนาดยาขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อให้ถ่ายได้เหมือนเดิม หรือเวลาหยุดยา ลำไส้ไม่ยอมเคลื่อนไหวจึงท้องผูก เป็นเหตุให้ผู้ป่วยหยุดใช้ยาไม่ได้ และทำให้ดูเหมือนติดยาระบายในที่สุด

จัดการอย่างไรดี

acare_Gastro_Laxative_addiction_eat_healthy

วิธีป้องกันการติดยาระบาย คือ ไม่ใช้ยาระบายพร่ำเพรื่อ ให้ใช้เมื่อจำเป็นจริง ๆ หากมีอาการท้องผูกที่ไม่รุนแรงก็แก้ไขโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นอันดับแรก ได้แก่ รับประทานอาหารที่มีกากใยสูง ดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 1.5 ลิตร
ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และฝึกให้ถ่ายอุจจาระสม่ำเสมอ เวลาที่เหมาะสำหรับการถ่ายอุจจาระ คือ หลังมื้ออาหาร ควรให้เวลากับการถ่ายอุจจาระอย่างเพียงพอ ไม่เร่งรีบ เมื่อมีความรู้สึกอยากขับถ่าย ไม่ควรละเลยหรืออั้นการถ่ายอุจจาระ

ส่วนผู้ป่วยที่เกิดอาการติดยาระบาย แก้ไขโดยค่อย ๆ ลดยาระบายลงหรือหยุดไปเลย แล้วเน้นการทดแทนด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดังกล่าวข้างต้น และสังเกตอาการตนเองอย่างต่อเนื่อง รวมถึงอาจพิจารณาใช้การรักษาอื่น ๆ ที่ปลอดภัยช่วยเสริมการรักษาอาการท้องผูกได้ เช่น การใช้โพรไบโอติก ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่มีชีวิตที่เป็นประโยชน์ต่อระบบทางเดินอาหาร ทำให้การเคลื่อนไหวของลำไส้กลับมาทำงานได้เป็นปกติ



เอกสารอ้างอิง
– Wald A. Is chronic use of stimulant laxatives harmful to the colon. J Clin Gastroenterol 2003; 36(5): 386-9.

THL2314987 EXP:(30-APR-2026)