ทานอาหารอย่างไร…ในวันที่มีอาการท้องเสีย
ทุกคนรู้จักอาการท้องเสียกันดีอยู่แล้ว แต่ลองมาดูความหมายของอาการท้องเสียกันดีกว่าว่าเป็นอย่างไร?
โรคอุจจาระร่วงหรือท้องเสีย หมายถึง ภาวะที่มีการถ่ายอุจจาระเหลว หรือถ่ายเป็นน้ำมากกว่าหรือเท่ากับ 3 ครั้งใน 1 วัน (หรือถ่ายเป็นน้ำจำนวนมากอย่างน้อย 1 ครั้งใน 1 วัน) หรือถ่ายมีมูกหรือปนเลือดอย่างน้อย 1 ครั้ง
โรคอุจจาระร่วงแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ตามระยะเวลาที่เกิดอาการ คือ
1. โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน คือ มีอาการท้องเสียน้อยกว่า 14 วัน สาเหตุที่พบบ่อย คือ อาหารเป็นพิษ หรือติดเชื้อ เช่น ไวรัส แบคทีเรีย
2. โรคอุจจาระร่วงเรื้อรัง คือ มีอาการท้องเสียมากกว่า 14 วัน การรักษาที่สำคัญ คือ ทดแทนน้ำที่สูญเสียไปโดยเน้นการให้น้ำเกลือแร่ ORS อย่างเพียงพอ ร่วมกับพิจารณาให้ยาบรรเทาอาการต่างๆ รวมถึงเรื่องของอาหารการกินในช่วงที่เกิดอาการท้องเสียก็เป็นสิ่งสำคัญ ควรรู้เกี่ยวกับอาหารที่เหมาะสมและอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงในช่วงที่เกิดอาการ
อาหารสำหรับโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน
บางคนเข้าใจว่าช่วงที่เกิดอาการท้องเสียควรงดน้ำและอาหาร เพราะน้ำและอาหารอาจกระตุ้นให้ถ่ายเพิ่มขึ้น แต่ความเป็นจริงแล้วไม่จำเป็นต้องงดน้ำและอาหาร เพราะอาจทำให้ร่างกายขาดน้ำมากขึ้นไปอีก และยังพบว่าการให้อาหารอย่างเหมาะสมจะช่วยให้ลำไส้กลับมาทำงานและฟื้นฟูตัวเองได้เร็วขึ้น อาหารที่แนะนำในช่วงที่เกิดอุจจาระร่วงเฉียบพลัน คือ อาหารอ่อนและย่อยง่าย โดยเน้นอาหารที่มีข้าวหรือแป้งเป็นหลัก เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ซุป
ผู้ใหญ่ที่มีอาการท้องเสีย ควรจะงดผัก ผลไม้ น้ำผลไม้ และนม จนกว่าอาการท้องเสียจะดีขึ้น เพราะอาหารเหล่านี้อาจทำให้ท้องเสียมากขึ้นได้ ส่วนในเด็กเล็กหากดื่มนมแม่อยู่ก็ยังดื่มได้ตามปกติ หากดื่มนมผง ในช่วงท้องเสียแนะนำให้ดื่มนมที่ผสมเจือจาง เช่น ลดปริมาณนมผงลงครึ่งนึง จนกว่าอาการจะดีขึ้น
อาหารสำหรับโรคอุจจาระร่วงเรื้อรัง
การพิจารณาเรื่องอาหารสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการท้องเสียเรื้อรัง ต้องเริ่มจากการสังเกตและค้นหาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการท้องเสียเรื้อรัง เช่น สาเหตุจากธาตุอ่อน หรือเกิดจากการรับประทานยาปฏิชีวนะมากเกินไป เพราะคำแนะนำในเรื่องอาหารก็จะต่างกันออกไป ถ้าสาเหตุมาจากเป็นคนธาตุอ่อน ต้องคอยสังเกตว่าอาหารประเภทใดที่มักจะทำให้ท้องเสียและพยายามหลีกเลี่ยง เพราะอาหารที่ทำให้ท้องเสียในแต่ละคนอาจแตกต่างกัน เช่น บางคนรับประทานของเผ็ดแล้วจะท้องเสีย
ส่วนอาหารที่แนะนำในคนที่ธาตุอ่อน คือ อาหารที่มีกากใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ ข้าวกล้อง ธัญพืชต่าง ๆ เนื่องจากอาหารพวกนี้จะช่วยทำให้การเคลื่อนไหวของลำไส้กลับมาเป็นปกติ ดังนั้น ผู้ป่วยที่เพิ่งหายท้องเสีย ควรรับประทานอาหารที่มีกากใยสูงอย่างสม่ำเสมอ ส่วนอาหารที่แนะนำให้ลดปริมาณลง คือ อาหารไขมันสูง เช่น เนื้อติดมันเยอะ ๆ อาหารทอด อาหารผัด เพราะอาหารที่มีไขมันสูงจะย่อยยากกว่า และยังทำให้ลำไส้ใหญ่หดตัว เพิ่มการขับถ่ายได้
สำหรับคนที่ท้องเสียจากการรับประทานยาปฏิชีวนะมากเกินไป เกิดขึ้นเพราะยาปฏิชีวนะมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียหรือจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ต่อระบบทางเดินอาหาร เมื่อจุลินทรีย์ที่ดีต่อระบบทางเดินอาหารลดลงจึงทำให้ทางเดินอาหารผิดปกติได้ อาหารที่แนะนำหลังจากที่หายจากท้องเสียแล้ว คือ อาหารที่มีเชื้อจุลินทรีย์ที่ดีต่อระบบทางเดินอาหาร เช่น แลคโตบาซิลลัส และบิฟิโดแบคทีเรียม เช่น โยเกิร์ต หรือนมเปรี้ยว
เอกสารอ้างอิง
– กนกอร บุญพิทักษ์ (บรรณาธิการ). ดูแลกระเพาะอาหารและลำไส้: กรุงเทพฯ. Feel good Publishing, 2556.