ประเภทของอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน

ผู้ป่วยมักอธิบายว่าอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนเป็นอาการที่รู้สึกไปเองว่าสิ่งรอบตัวเคลื่อนไหวแบบหมุน ผู้ป่วยหลายรายที่มีอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนจะรู้สึกมึนงง หงุดหงิด และสับสน1

อาการเวียนศีรษะบ้านหมุนแบ่งออกเป็นสองประเภทหลัก ดังนี้2

  • หากอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนเกิดจากความผิดปกติของหูและโครงสร้างรอบหู อาการนี้จะเรียกว่าอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนจากความผิดปกติของระบบประสาทส่วนปลาย
  • ในทางกลับกัน หากอาการเกิดจากความผิดปกติของสมองและโครงสร้างรอบสมอง อาการนี้จะเรียกว่าอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนจากความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง

ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนจากความผิดปกติของระบบประสาทส่วนปลาย อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยต้องปรึกษาแพทย์ หากมีอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน แพทย์จะประเมินได้ว่าผู้ป่วยมีอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนจากความผิดปกติของระบบประสาทส่วนปลายหรือระบบประสาทส่วนกลาง และจะช่วยจัดการอาการต่าง ๆ ได้

เราพบได้บ่อยครั้งที่สุดว่าอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนจากความผิดปกติของระบบประสาทส่วนปลายมักเกิดจากความผิดปกติในหูชั้นใน2

เหตุใดความผิดปกติจากหูชั้นในทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน?
หูชั้นในประกอบด้วย3

  • ท่อครึ่งวงกลมสามท่อที่มีของเหลวบรรจุอยู่และมีเซลล์รับความรู้สึกที่มีขน เป็นส่วนที่ทำให้เราสามารถทรงตัวอยู่ได้
  • ถุงบรรจุของเหลวสองถุง (แซกคูลและยูลตริเคิล) ที่มีก้อนกรวดเล็ก ๆ ด้านใน ทำหน้าที่รับรู้เกี่ยวกับการขยับขึ้นหรือลง และการเร่งหรือชะลอความเร็ว
  • ส่วนที่ทำหน้าที่รับเสียงหรือคอเคลีย ซึ่งเป็นท่อที่มีรูปร่างเหมือนก้นหอย เป็นส่วนที่ทำให้เราได้ยินเสียง
  • ส่วนประกอบของหูชั้นในทั้งหมดข้างต้นทำให้ระบบการทรงตัวทำงานได้อย่างราบรื่น

สำหรับกลุ่มอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนจากความผิดปกติของระบบประสาทส่วนปลาย ผู้ป่วยจำนวนมากมีอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนเนื่องมาจากโรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน โรคเส้นประสาทการทรงตัวในหูอักเสบเฉียบพลัน และโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน4

โรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน (Benign Paroxysmal Positional Vertigo: BPPV)

โรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในเคลื่อนพบได้มาก ว่าทำให้เกิดความรู้สึกเวียนศีรษะบ้านหมุนขณะเปลี่ยนท่าทาง ซึ่งผู้ป่วยจะรู้สึกว่ามีอาการศีรษะหมุนเมื่อมีการเอียงศีรษะตามแรงโน้มถ่วง โรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในเคลื่อนมีสาเหตุจากความผิดปกติของหูชั้นใน และทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนขณะเปลี่ยนท่าทางขึ้นซ้ำหลายครั้ง5 อีกทั้งอาจแสดงอาการต่อไปนี้6

  • คลื่นไส้
  • ไมเกรน
  • ปัญหาการทรงตัว

โดยปกติแล้ว อาการของโรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในเคลื่อนมักเกิดจากการเคลื่อนไหวหรือการเปลี่ยนท่าทาง ยกตัวอย่างเช่น การลุกขึ้นนั่งจากท่านอนหรือการเงยหน้าเร็วเกินไป อาการเวียนศีรษะบ้านหมุนที่ตามมานั้นสามารถเกิดขึ้นได้นานระหว่าง 5-30 วินาที7 โรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในเคลื่อนมักพบได้บ่อย และคนทั่วไปกว่าร้อยละ 50 อาจมีอาการนี้ได้ในบางครั้ง7 มีการฝึกท่าต่าง ๆ หลายท่าที่สามารถช่วยป้องกันไม่ให้เกิดโรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในเคลื่อนอีกได้

โรคเส้นประสาทการทรงตัวในหูอักเสบ

โรคเส้นประสาทการทรงตัวในหูอักเสบ ซึ่งทำให้เกิดอาการอักเสบในหูชั้นใน อาจกระตุ้นอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน กล่าวคือ เส้นประสาทการทรงตัวที่ส่งสัญญาณไปยังสมองมีการอักเสบ โรคเส้นประสาทการทรงตัวในหูอักเสบจะแสดงอาการ
ต่าง ๆ เช่น

  • คลื่นไส้
  • อาเจียน
  • ปัญหาการทรงตัว

โรคเส้นประสาทการทรงตัวในหูอักเสบมักเกิดจากการติดเชื้อไวรัส เช่น หวัดหรือไข้หวัด อาการจะปรากฏเป็นเวลาหลายชั่วโมง โดยมีความรุนแรงที่สุดในช่วงระหว่าง 24-48 ชั่วโมง9 ซึ่งแตกต่างจากโรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน

โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน

โรคน้ำในหูไม่เท่ากันเป็นภาวะหนึ่งของหูชั้นในที่อาจทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนอย่างรุนแรง โรคน้ำในหูไม่เท่ากันทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนเกิดขึ้นซ้ำ ๆ9 นอกเหนือจากอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน หากผู้ป่วยเป็นโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน ผู้ป่วยอาจมีอาการต่อไปนี้10

  • ได้ยินเสียงรบกวนภายในหู
  • รู้สึกถึงแรงดันภายในหู
  • คลื่นไส้
  • อาเจียน
  • มีปัญหาการทรงตัว
  • สูญเสียการได้ยิน

อาการดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้นานตั้งแต่หลายนาทีจนถึงหลายชั่วโมง โรคน้ำในหูไม่เท่ากันอาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัส การบาดเจ็บที่ศีรษะ ไมเกรน หรือการมีครอบครัวที่มีประวัติป่วยด้วยโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน10

อาการเวียนศีรษะจากไมเกรน ใช้ในการอธิบายความสัมพันธ์ทุกรูปแบบระหว่างไมเกรนกับอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน ทั้งนี้ ผู้ป่วยอาจมีอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนและอาการเพิ่มเติมพร้อมไมเกรน ดังนี้

  • คลื่นไส้
  • มองเห็นภาพพร่ามัว
  • ได้ยินเสียงรบกวนภายในหู
  • ปวดคอ
  • มีความอ่อนไหวต่อแสงหรือเสียงมากขึ้น

ไมเกรนไม่ได้หมายถึงเพียงการปวดศีรษะ มีไมเกรนหลายประเภทที่ไม่ได้แสดงอาการปวดศีรษะ12 ด้วยเหตุนี้ อาการเวียนศีรษะจากไมเกรนอาจมีหรือไม่มีอาการปวดศีรษะร่วมด้วยก็ได้

สาเหตุที่ระบุข้างต้นเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยครั้ง อย่างไรก็ตาม อาการเวียนศีรษะบ้านหมุนอาจเกิดได้จากโรคอื่น ๆ ยกตัวอย่างเช่น อาการเวียนศีรษะบ้านหมุนจากความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลางมีสาเหตุจากการบาดเจ็บที่สมอง เช่น13

  • โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง
  • เนื้องอกในสมอง
  • โรคหลอดเลือดสมอง
  • การบาดเจ็บ

สถานการณ์อาจรุนแรงขึ้นอย่างยิ่ง หากอาการเวียนศีรษะเกิดจากสาเหตุที่พบได้ยาก

เพื่อจัดการกับอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน การหาสาเหตุที่แท้จริงเป็นสิ่งสำคัญ ในกรณีที่มีอาการ คุณต้องปรึกษาแพทย์ของคุณ ปฏิบัติตามคำแนะนำ และเรียนรู้วิธีจัดการแบบทันท่วงทีเมื่อเกิดอาการเวียนศีรษะ

References

  1. VeDA. New Patient Toolkit. https://vestibular.org/article/diagnosis-treatment/new-patient-toolkit/. Published 2020. Accessed October 14, 2020.
  2. RACGP – An approach to vertigo in general practice. https://www.racgp.org.au/afp/2016/april/an-approach-to-vertigo-in-general-practice/. Published 2020. Accessed October 28, 2020.
  3. Encyclopedia Britannica. Inner ear | anatomy. https://www.britannica.com/science/inner-ear. Published 2020. Accessed October 28, 2020.
  4. Singh Sura.D, Newell.S. Vertigo-Diagnosis and management in the primary care. Br. J. Medical Pract.. 2010 3(4):a351.
  5. Bhattacharyya N, Gubbels S, Schwartz S et al. Clinical Practice Guideline: Benign Paroxysmal Positional Vertigo (Update) Executive Summary. Otolaryngol Head Neck Surg. 2017;156(3):403-416.
  6. NHS. Benign paroxysmal positional vertigo (BPPV). https://www.guysandstthomas.nhs.uk/resources/patient-information/therapies/physiotherapy/benign-paroxysmal-positional-vertigo.pdf.Published 2017. Accessed October 28, 2020.
  7. Ménière’s Society: BPPV. Menieres.org.uk. https://www.menieres.org.uk/information-and-support/symptoms-and-conditions/bppv. Published 2020. Accessed October 14, 2020.
  8. NHS. Labyrinthitis and vestibular neuritis. nhs.uk. https://www.nhs.uk/conditions/labyrinthitis/. Published 2020. Accessed October 14, 2020.
  9. Smith T, Rider J, Cen S. Vestibular Neuronitis (Labyrinthis). https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK549866/. Accessed October 14, 2020.
  10. NHS. Ménière’s disease. nhs.uk. https://www.nhs.uk/conditions/menieres-disease/. Published 2020. Accessed October 14, 2020.
  11. VeDA. Vestibular Migraine – https://vestibular.org/article/diagnosis-treatment/types-of-vestibular-disorders/vestibular-migraine/. Published 2020. Accessed October 28, 2020.
  12. Ménière’s Society: Vestibular Migraine. Menieres.org.uk. https://www.menieres.org.uk/information-and-support/symptoms-and-conditions/migraine-associated-vertigo. Published 2020. Accessed October 14, 2020.
  13. Marill.K. Central Vertigo. https://emedicine.medscape.com/article/794789-overview#showall. Accessed October 14, 2020.
THL2307491 EXP:(6-MAR-2026)